ขอ ขวด (ฃ) และ คอ คน (ฅ) อยู่ตรงไหนบนแป้นพิมพ์ |
ฃ และ ฅ เป็นตัวอักษรที่ไม่ค่อยได้ใช้งานแล้วสำหรับตำแหน่งนั้น ขึ้นกับ Keyboard เป็นหลักครับว่าจะจัดวางไว้ตรงไหน แต่ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ปุ่ม \
โดย ฃ จะอยู่ล่าง ส่วน ฅ ต้องกด Shift
รศ. ดร. คุณหญิงสุริยา รัตนกุล ผู้เขียนหนังสือ ฃ, ฅ หายไปไหน ?
ได้ศึกษา ความเป็นมาของพยัญชนะทั้งสองตัวนี้ และชี้ให้เห็นว่า หากเริ่มนับตั้งแต่ที่พบ ฃ, ฅ ในศิลาจารึกสมัยสุโขทัยเป็นครั้งแรก จนถึงการประกาศเลิกใช้ ฃ, ฅ ในปทานุกรม พ.ศ. 2470 และพจนานุกรม พ.ศ. 2493 เป็นเกณฑ์ พยัญชนะทั้งสองมีที่ใช้อยู่ในภาษาไทย นานถึง 700 ปี หากแต่อัตราการใช้และความแม่นยำที่ใช้แตกต่างกันไปตามยุคสมัย เดิม ฃ, ฅ เป็นพยัญชนะแทนเสียง ซึ่งเคยใช้กันมาแต่เดิม (ซึ่งแตกต่างจากเสียง ข และ ค) แต่เสียงนี้ได้หายไปในระยะหลัง เป็นเหตุให้พยัญชนะทั้งสองตัวหมดความสำคัญลงในภาษาไทยปัจจุบัน
เมื่อครั้งที่มีการประดิษฐ์พิมพ์ดีดภาษาไทยขึ้นเป็นครั้งแรก ในปี 2434 ผู้ประดิษฐ์ ได้ตัดตัว ฃ, ฅ ทิ้งไปด้วยเหตุว่า พื้นที่บนแป้นพิมพ์ดีดไม่เพียงพอ และยังให้เหตุผลว่า เป็นพยัญชนะที่ “ไม่ค่อยได้ใช้ และสามารถทดแทนด้วย ตัวพยัญชนะอื่นได้” นี่อาจเป็นครั้งแรกที่พยัญชนะ ฃ, ฅ ถูก “ตัดทิ้ง” อย่างเป็นทางการ ส่วนครั้งต่อ ๆ มาก็คือ การประกาศงดใช้ ฃ, ฅ สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อครั้งปรับปรุงภาษาไทยให้เจริญก้าวหน้าในยุครัฐนิยม รวมถึงการประกาศ เลิกใช้ในปทานุกรม และพจนานุกรม ดังกล่าวแล้ว
มีข้อน่าสังเกตว่า แต่ก่อนพยัญชนะ ฅ ไม่ได้ใช้ในคำว่า คน เลย (ฅ ใช้ในคำ ฅอ ฅอเสื้อ เป็นอาทิ) ความสับสนในเรื่องนี้ คงเกิดมาจาก ก ไก่ คำกลอน ผลงานของ ครูย้วน ทันนิเทศ (ในหนังสือ แบบเรียนไว เล่มหนึ่ง ตอนต้น, พ.ศ. ๒๔๗๓) ที่แต่งว่า “ฅ ฅนโสภา”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น