ปลูกกล้วยน้ำว้าให้ขายตลอดปี สูตร อ.กัลยาณี สุวิทวัส สถานีวิจัยปากช่อง |
อาจารย์กัลยาณี สุวิทวัส นักวิจัยชำนาญการพิเศษ สถานีวิจัยปากช่อง สถาบันอินทรีจันทรสถิตย์เพื่อการค้นคว้าและพัฒนาพืชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา กล่าวถึงจำนวนเกษตรกรและพื้นที่ปลูกกล้วยน้ำว้า สายพันธุ์กล้วยน้ำว้า พันธุ์ปากช่อง 50 อันเป็นผลงานวิจัยของอาจารย์กัลยาณี และคณะ
ลักษณะเด่นกล้วยน้ำว้า พันธุ์ปากช่อง 50
กล้วยน้ำว้าปากช่อง 50 ได้เปิดตัวเป็นครั้งแรกในปี 2551 ถือเป็นอีกหนึ่งผลงานเด่นของสถานีวิจัยปากช่อง อันเป็นสถานีที่วิจัยงานทางด้านไม้ผลเขตร้อนของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปัจจุบันถือเป็นสายพันธุ์ดีที่ได้รับความสนใจจากเกษตรกรอย่างกว้างขวาง กล้วยน้ำว้าปากช่อง 50 เกิดจากการคัดเลือกสายพันธุ์กล้วยน้ำว้าไส้เหลืองที่เก็บรวบรวมพันธุ์ไว้ที่สถานีวิจัยปากช่อง กว่า 10 สายพันธุ์ โดยพบว่าสายพันธุ์ที่คัดเลือกได้นี้มีคุณสมบัติที่เหมาะในการปลูกเพื่อการค้า
ลักษณะเด่น คือ
- เครือใหญ่ น้ำหนักเครือมากกว่า 30 กิโลกรัม (ไม่รวมก้านเครือ)
- จำนวนหวีมากกว่า 10 หวี - จำนวนผลต่อหวีประมาณ 18 ผล
- ผลกล้วยใหญ่อ้วนดี น้ำหนักผลโดยเฉลี่ยประมาณ 140 กรัม ต่อผล
- ไส้กลางไม่แข็ง ออกสีเหลือง เนื้อแน่น
- เมื่อสุกมีความหวานประมาณ 26 องศาบริกซ์
ทั้งนี้ สิ่งที่เป็นเป้าหมายสำคัญของการวิจัยพัฒนาสายพันธุ์เพื่อให้เกษตรกรในประเทศไทยได้ปลูกกล้วยน้ำว้า ที่ปลูกแล้วให้เครือใหญ่ คุ้มกับการลงทุน และภาคอุตสาหกรรมของกล้วยน้ำว้าจะได้มีการเติบโต
“ปัจจุบันตลาดของกล้วยน้ำว้าในภาพรวมอยู่ในสภาพดี และราคาค่อนข้างดี เพราะมีการนำกล้วยน้ำว้าไปใช้ในอุตสาหกรรมการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ อีกทั้งยังมีการส่งออกไปตลาดต่างประเทศ ทำให้เกิดความต้องการกล้วยน้ำว้าสูงมากขึ้น”
“ส่งผลทำให้กำไรที่เกษตรกรได้รับสามารถเทียบได้กับการปลูกกล้วยไข่และกล้วยหอม อย่างกล้วยน้ำว้าปากช่อง 50 ที่ปลูกเพื่อตัดเครือจำหน่าย ในรายของเกษตรกรที่มีการจัดการบำรุงดูแลดีตามข้อแนะนำ จะมีกำไรจากการปลูก ประมาณ 10,000-12,000 บาท ต่อไร่” อาจารย์กัลยาณีกล่าว
ใช้เทคโนโลยีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
จาก การทุ่มเทและคลุกคลีกับการปลูกกล้วยน้ำว้ามาอย่างยาวนานกว่า 10 ปี จึงทำให้อาจารย์กัลยาณีค้นพบเทคนิคการปลูกกล้วยน้ำว้าให้ประสบความสำเร็จ อย่างน่าสนใจ และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการปลูกกล้วยน้ำว้าของเกษตรกรโดยได้มีการจัดฝึก อบรมถ่ายทอดองค์ความรู้ที่น่าสนใจนี้ให้กับเกษตรกรที่นำกล้วยน้ำว้าปากช่อง 50 ไปปลูกมาอย่างต่อเนื่อง
แต่อย่างไรก็ตาม หนึ่งในข้อแนะนำของอาจารย์กัลยาณี คือ การปลูกกล้วยน้ำว้า โดยเฉพาะพันธุ์ปากช่อง 50 นั้น สิ่งที่ต้องใส่ใจคือ การดูแลรักษาเนื่องจากกล้วยเป็นไม้ผลที่ตอบสนองได้ดีกับสภาพอากาศดินและปุ๋ยเป็นอย่างมาก หากการดูแลรักษาไม่ดี ขาดน้ำขาดปุ๋ย สภาพพื้นที่แห้งแล้งเกินไป กล้วยพันธุ์นี้จะให้ผลผลิตเพียง 7-8 หวีเท่านั้น แต่ผลยังอ้วนใหญ่ ไส้กลางไม่แข็ง เนื้อยังแน่นเหมือนเดิม
“ดังนั้น อย่างกล้วยน้ำว้าปากช่อง 50 ถ้าจะปลูกให้ได้ผลคุ้มค่าสูงสุดจึงจำเป็นต้องมีการดูแลรักษาที่ดีควบคู่ไปด้วย”
อาจารย์กัลยาณีกล่าว ในการดูแลรักษานั้น อาจารย์กัลยาณีได้ให้ข้อแนะนำตั้งแต่เรื่องของ พันธุ์กล้วยที่นำมาปลูก ควรใช้ต้นพันธุ์จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อทดแทนการใช้หน่อที่เคยทำกันมาแบบเดิม การปลูกต้นกล้วยน้ำว้าจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เป็นวิธีการสำคัญที่จะช่วยทำให้ลดปัญหาการสูญเสียจากการเข้าทำลายของโรคแมลงศัตรูกล้วยน้ำว้าได้เป็นอย่างดี
“ด้วยสภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้น ส่งผลให้เกิดการระบาดของโรคแมลงมากขึ้นและทำให้เกิดความสูญเสียเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโรคตายพราย และหนอนกอหรือด้วงงวงเจาะเหง้า ซึ่งจะฝังตัวอยู่ในเหง้า และพบมากในช่วงหน้าแล้ง ทางที่ดีที่สุดคือ การป้องกัน ดีกว่าการไปรักษา ที่ต้องลงทุนสูงมาก ด้วยวิธีการปลูกด้วยการใช้ต้นพันธุ์ที่มาจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ”
วิธีการปลูกด้วยการใช้ต้นพันธุ์จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ จะเหมาะสมมากในกรณีที่เป็นพื้นที่ปลูกใหม่ที่ไม่เคยพบการระบาดของโรคแมลงดังกล่าวมาก่อน โดยปลูกชุดแรกเพียงชุดเดียว หลังจากนั้นเมื่อเข้าสู่เดือนที่ 7 ก็สามารถขุดหน่อที่ได้มาใหม่ไปปลูกขยายได้ จะทำให้เป็นแปลงปลูกที่ปลอดจากโรคแมลง
“แต่ก่อนนี้ การปลูกต้นกล้วยน้ำว้าจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เป็นสิ่งที่เกษตรกรไม่ให้การยอมรับ จึงได้มีการจัดทำแปลงสาธิต จัดอบรมเกษตรกรและผู้สนใจ เพื่อให้เกิดความเข้าใจในการหันมาปรับเปลี่ยนวิธีการปลูกด้วยการใช้ต้นจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อทดแทน ซึ่งตอนนี้เกษตรกรที่เข้ามารับการอบรมได้เกิดความเข้าใจและปรับเปลี่ยนวิธีการหาต้นพันธุ์มาปลูก ทำให้การผลิตต้นพันธุ์ของสถานีในขณะนี้ไม่เพียงพอกับความต้องการ”
อาจารย์กัลยาณีบอกว่า ดังนั้น ต้นกล้วยน้ำว้าปากช่อง 50 ที่ทางสถานีจำหน่ายให้กับเกษตรกรนั้นจะเป็นต้นกล้วยจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อที่มีความสูงมากกว่า 15 เซนติเมตร ซึ่งสามารถลงปลูกในแปลงปลูกได้เลย ในส่วนข้อดีของการใช้ต้นกล้วยจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ คือขนย้ายต้นพันธุ์สะดวก ต้นพันธุ์ปลอดจากโรคและแมลงที่เป็นปัญหาในปัจจุบัน ได้แก่ โรคตายพรายและหนอนกอ เจริญเติบโตเร็ว การเก็บเกี่ยวทำได้พร้อมกันจำนวนมาก อีกทั้งสามารถเก็บต้นพันธุ์ไว้ได้นานหากยังไม่พร้อมปลูกลงแปลง เป็นต้น
หลุมปลูกควรใหญ่ ปลูกระยะ 4x4 เมตร
เทคนิคต่อมาคือ เกษตรกรควรมีการปรับเปลี่ยนวิธีจัดการดูแลแปลงปลูกให้เป็นระบบมากขึ้น อย่างเช่น ในเรื่องของหลุมปลูก ได้แนะนำให้ขุดหลุมให้มีขนาดใหญ่มากขึ้น เป็นขนาด 50x50x50 เซนติเมตร ซึ่งเป็นวิธีการแก้ปัญหาขึ้นโคนหรือโคนลอยช้าลง สามารถอยู่ได้นานถึง 4-5 ปี แล้วจึงรื้อปลูกใหม่
“เพราะระบบรากของกล้วยน้ำว้านั้นจะหากินในรัศมีไม่เกิน 50 เซนติเมตร ทำให้รากสามารถหากินได้มากขึ้น กว่าวิธีการขุดแบบเดิมของเกษตรกรที่ขุดหลุมพอดีกับเหง้า อีกทั้งในกลุ่มปลูกยังมีการใส่ปุ๋ยคอก ทำให้รากชอนลงด้านล่างเพื่อหาอาหาร ทำให้อาการรากลอยจึงช้าลง แทนที่จะเป็น 1-2 ปี รื้อ เกษตรกรมีต้นทุนที่ลดลง”
การไว้ใบกล้วยต่อต้น อาจารย์กัลยาณีบอกว่า เมื่อก่อนเกษตรกรบอกว่า ถ้าต้นกล้วยเป็นโรคต้องตัดใบลงให้มากๆ เพื่อให้แสงเข้า แต่เป็นแนวคิดที่ผิด เพราะต้นกล้วยจะสมบูรณ์ได้มาก ต้องมีใบมากเท่านั้น โดยเฉพาะในช่วงตกเครือ ต้องมีอย่างน้อย 7 ใบ ถ้าต่ำกว่านี้ผลผลิตจะไม่ค่อยดี ดังนั้น จุดแก้ไขตรงนี้จึงต้องไปดูที่ระยะปลูก โดยระยะที่เหมาะสมควรเป็น 4x4 เมตร
“ถ้าปลูกในระยะที่ถี่กว่านี้ จะประสบปัญหาต้นกล้วยในกอจะเบียดกัน เพราะจากที่ศึกษาพบว่า ถ้าปลูกที่ระยะ 2x2 หรือ 3x3 เมตร ในระยะ 1-2 ปีแรก จะได้ผล แต่เมื่อไว้กอ 4-5 ต้น ใน 1 กอ จะพบว่ามีการเบียดกัน เพราะตามนิสัยของต้นไม้จะต้องพุ่งเข้าหาแสง ซึ่งส่งผลทำให้ต้นพุ่งสูงชะลูด แต่ระยะปลูก 4x4 เมตร จะกำลังพอดีกับการเลี้ยงกอของต้นกล้วย 4 ต้น และมีผลทำให้แสงสามารถส่องเข้าถึงพื้นที่ได้ดีด้วย”
แนะระบบไว้หน่อทุก 3 เดือน ให้ออกผลผลิตทั้งปี
อีกปัญหาหนึ่งที่อาจารย์กัลยาณีได้รับการสอบถามจากเกษตรกรคือ จำนวน 1 กอ จะไว้ต้นกล้วยน้ำว้ากี่ต้น อาจารย์ได้ให้ข้อแนะนำว่า
“ถ้าสังเกตจะพบว่าในกล้วยน้ำว้า 1 กอนั้น จะมีขนาดลำต้นเท่าๆ กันหมด และกันให้จำนวนเครือไม่เยอะ เมื่อศึกษาทำให้ได้ข้อมูลว่า ถ้าใน 1 กอ ต้นกล้วยจะอายุเท่ากันหมด อาหารที่ต้นกล้วยจะต้องเป็นกลุ่มเดียวกัน โดยช่วงที่เจริญเติบโตก็ต้องใช้ปุ๋ยไนโตรเจนเหมือนกัน และเมื่อตกลูกก็ตกพร้อมกันอีก ต้องใช้ปุ๋ยฟอสฟอรัสและโพแทสเซียมพร้อมกัน”
อาจารย์กัลยาณีกล่าวต่อไปว่า ถ้าเกษตรกรใส่สูตรเสมอ หรือคำนวณปริมาณปุ๋ยไม่เป็น การใส่ปุ๋ยนั้นก็จะไม่เกิดประโยชน์ที่ตรงกับช่วงความต้องการ จึงได้ทำการศึกษาในเรื่องการไว้หน่อตาม ทำให้ได้ข้อมูลที่น่าสนใจถึงระบบการจัดการหน่อ
“เราทดลองในต้นกล้วยที่อายุ 6 เดือน โดยถ้าพบว่ามีหน่อก่อนหน้านี้ให้ปาดทิ้งทั้งหมด พอหลังจากอายุ 6 เดือน ให้ไว้หน่อที่ 1 พอหน่อที่ 1 อายุ 3 เดือน ให้ไว้หน่อที่ 2 หลังจากนั้นทุกๆ 3 เดือน ให้ไว้หน่อที่ 3 และ 4, 5 ตาม โดยหน่อที่ขึ้นมาในช่วงที่ไม่ได้กำหนดให้ปาดทิ้งทั้งหมด ปรากฏว่า เมื่อจะไว้หน่อที่ 5 ต้นแม่ก็สามารถเก็บเกี่ยวเครือกล้วยได้แล้ว ฉะนั้นจะกลายว่ากอนั้นมีต้นกล้วย 4 ต้น ที่อายุห่างกัน 3 เดือน โดยมีหน่อที่ 1 ที่อายุห่าง 6 เดือน ดังนั้น เมื่อใช้ระบบนี้ต่อไปหลายๆ ปีจะทำให้กล้วยน้ำว้าในแปลงมีอายุห่าง 3 เดือน”
“สาเหตุที่ไว้หน่อทุก 3 เดือน มีเหตุผลว่า ด้วยการออกผลผลิตของกล้วยน้ำว้าในแปลงนั้นจะออกไม่พร้อมกัน ถึงแม้ไว้ใกล้เคียงกัน จะมีการกระจายตัวในการเก็บเกี่ยวประมาณ 3 เดือน โดยจากข้อมูลที่ศึกษาจากการปลูกกล้วยน้ำว้าด้วยหน่อพบว่า จะมีช่วงแรกที่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ ช่วงกลางๆ จะเก็บได้ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ และช่วงปลายเก็บได้ประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์
ทีนี้ถ้าค่อยๆ ปลูกหรือไว้หน่อไป กล้วยที่ออกผลในช่วงปลาย 25 เปอร์เซ็นต์ จะไปรวมกับ 25 เปอร์เซ็นต์ของช่วงแรกในอีกแปลงหนึ่ง จะทำให้ได้ผลผลิตรวมเป็น 50 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นทั้งปีด้วยวิธีการนี้ ทำให้สามารถมีผลผลิตกล้วยน้ำว้าจำหน่ายให้กับพ่อค้าได้ตลอดทั้งปีและสามารถต่อรองราคากับพ่อค้าได้ โดยไม่ต้องถูกกดราคาเพราะจำเป็นต้องตัดขายทั้งแปลง”
อาจารย์กัลยาณีกล่าว ในส่วนของหน่อที่เกษตรกรควรเลือกเก็บไว้ในกอ อาจารย์กัลยาณีแนะนำให้เลือก หน่อใบดาบ หรือดูที่โคนต้น ให้เลือกต้นที่โคนใหญ่ๆ ซึ่งแสดงว่ามีอาหารสะสมมาก สมบูรณ์มาก จะเป็นต้นที่ให้เครือใหญ่
“แต่ถ้าเป็นต้นที่ใบใหญ่และมีลักษณะลำต้นเรียวเล็ก หรือถึงแม้ว่าจะเป็นต้นที่เป็นใบดาบ แต่โคนเล็กก็อย่าไปเอา ให้ปาดทิ้งไปเลย นอกจากนี้ หน่อที่จะไว้ควรเป็นหน่อที่ไกลจากต้นแม่หน่อย ประเภทขึ้นติดโคนต้นแม่อย่าไปเอา สาเหตุเพราะต้นกล้วยจริงๆ คือเหง้า หน่อที่แตกมาจากต้นแม่จะเป็นหน่อที่แตกมาจากเหง้า ซึ่งค่อนข้างจะลอยตามต้นแม่ แต่ถ้าเป็นหน่อที่ไกลจากต้นแม่คือ เหง้าที่มุดดินไปแตกใหม่ มีความแข็งแรงเหมือนกับต้นที่ปลูกใหม่ โคนจะลอยช้า”
พร้อมกันนี้ อาจารย์กัลยาณียังได้ให้คำอธิบายต่อไปถึงข้อแนะนำที่ให้ใช้วิธีการปาดหน่อออกแทนที่จะขุดหน่อทิ้งว่า ด้วยการขุดหน่อนั้นจะเป็นการเสียทั้งเวลาและแรงงาน แต่การปาดหน่อ เดือนละ 1 ครั้ง จะเป็นวิธีการที่ช่วยประหยัดทั้งเวลาและแรงงาน
“แต่ถ้าต้องการเอาหน่อที่ไม่ต้องการนั้น ขุดขายสามารถทำได้ แต่มีข้อแม้ว่า ต้องดูต้นแม่ตกเครือหรือไม่ ถ้าตกเครือไม่ให้ขุดหน่อขาย เพราะจะมีผลกระทบต่อขนาดของลูกกล้วย ถ้าขุดหน่อจะทำให้ลูกกล้วยไม่ใหญ่ มีลักษณะแคระแกร็น ถ้าจะขุดหน่อจำหน่ายให้ขุดเมื่อเครือกล้วยจากต้นแม่แก่พร้อมเก็บเกี่ยวหรือเก็บเกี่ยวเครือกล้วยจากต้นแม่แล้ว และต้นต่อไปยังไม่ตกเครือ เป็นจังหวะที่สามารถขุดหน่อจำหน่ายได้”
9 เทคนิคปลูกกล้วยน้ำว้าให้ได้ผลดี
สำหรับต้นกล้วยน้ำว้าปากช่อง 50 ซึ่งมาจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ปัจจุบันสถานีวิจัยปากช่อง ได้ผลิตจำหน่าย ในราคาต้นละ 35 บาท ซึ่งเกษตรกรที่นำต้นพันธุ์ของสถานีไปปลูกนั้น อาจารย์กัลยาณีบอกว่า มีเทคนิคที่ต้องใส่ใจ ดังนี้
1. คัดเลือกต้นพันธุ์ที่มีขนาดความสูง 15 เซนติเมตรขึ้นไป หรือมีเส้นรอบวงต้นมากกว่า 3.5 เซนติเมตร หากต้นเล็กกว่านี้จะพบปัญหาเรื่องการดูแล และอัตราการตายสูง
2. เตรียมแปลงปลูก ระยะ 3x3 หรือ 4x4 เมตร ขนาดหลุมปลูก 50x50x50 เซนติเมตร เพื่อให้ระบบรากเดินดี ขึ้นโคนช้า ระยะปลูกขึ้นอยู่กับการดูแล ถ้าดูแลดี กอกล้วยใหญ่ ควรปลูกระยะ 4x4 เมตร 1 กอ ควรใว้เพียง 4 ต้นเท่านั้น
3. คลุกเคล้าปุ๋ยคอกผสมดินประมาณหลุมละ 2 กิโลกรัม รองก้นหลุมขึ้นมาประมาณ 30 เซนติเมตร แล้วจึงปลูกต้นกล้วยและกลบบริเวณโคนต้นให้แน่น ทำแอ่งดินรอบต้นเพื่อเก็บน้ำรักษาความชื้นของดิน และควรรองก้นหลุมด้วยฟูราดานป้องกันหนอนกอกล้วยประมาณ 1 ช้อนโต๊ะ ต่อหลุม
4. ปลูกเสร็จให้น้ำตามทันทีให้ชุ่มชื้นพอเพียง ไม่เช่นนั้นต้นจะเหี่ยวเฉา ใบแห้งและยุบตัว บางต้นตาย บางต้นแตกต้นใหม่ขึ้นแทนทำให้อายุต้นไม่สม่ำเสมอกัน
5. ในระยะเดือนแรกต้องให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ และดินต้องชุ่มชื้นเพียงพอ เป็นเดือนที่ต้องเอาใจใส่อย่างมาก หากเป็นการให้น้ำแบบฝอยหรือมินิสปริงเกลอร์ จะทำให้ต้นตั้งตัวได้เร็ว สามารถสร้างใบและลำต้นใหม่ได้ดี โอกาสรอดสูงกว่าการลากสายยางรดน้ำ และเริ่มให้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 ประมาณ 100-150 กรัม ต่อต้น หลังปลูกได้ 1 เดือน และเดือนที่ 2 ส่วนเดือนที่ 3 ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักแทน
6. เดือนที่ 2 และ 3 ต้นกล้วยจะมีต้นและใบใหม่ทั้งหมด ปัญหาคือหญ้าขึ้นคลุมต้น ต้องถากหญ้าบริเวณโคนต้น และฉีดยาฆ่าหญ้าพาราควอต ระหว่างแถว ต้องระวังอย่าให้ละอองยาโดนต้นกล้วย จะทำให้ต้นชะงักและตายได้
7. เดือนที่ 4 การเจริญเติบโตเร็วมาก ทั้งความสูงและรอบวงต้นใกล้เคียงปลูกจากหน่อพันธุ์ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดต้นปลูกเริ่มแรก ถ้าสูง 15 เซนติเมตร ขึ้นไป จะโตทันกัน ถือว่าเดือนนี้เป็นเดือนที่ต้นรอดตายทั้งหมด การดูแลทำเช่นเดียวกับการปลูกด้วยหน่อ โดยให้ปุ๋ย 15-15-15 หรือ 16-16-16 ประมาณ 100-150 กรัม ต่อต้นในเดือนที่ 4 และ 5 ส่วนเดือนที่ 6 ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักแทนและงดใส่ปุ๋ยจนกว่าจะแทงปลี ถึงจะใส่ปุ๋ยเคมีอีกครั้ง จนกระทั่งหลังเก็บเกี่ยวถึงจะเริ่มให้ปุ๋ยในรอบใหม่
8. เดือนที่ 6 หรือ 7 กล้วยเริ่มแทงหน่อ และสะสมอาหารเพื่อการตกเครือ
9. เดือนที่ 9 กล้วยเริ่มแทงปลี การแทงปลีหรือตกเครือจะเร็วหรือช้ากว่าหน่อพันธุ์ ขึ้นอยู่กับขนาดลำต้นปลูกเริ่มแรกและการดูแลรักษา หากต้นพันธุ์ที่มีขนาดความสูง 15 เซนติเมตรขึ้นไป หรือมีเส้นรอบวงต้นมากกว่า 4 เซนติเมตร การตกเครือใกล้เคียงกับหน่อพันธุ์ ขนาด 1 เมตร หากต้นมีขนาดใหญ่กว่านี้ การตกเครือจะเร็วกว่าหน่อพันธุ์ และหากเล็กกว่านี้การตกเครือจะช้ากว่าหน่อพันธุ์ อายุเครือกล้วยจากการแทงปลีจนกระทั่งเก็บเกี่ยวมีอายุประมาณ 4 เดือน เท่ากับหน่อพันธุ์กล้วยน้ำว้าทั่วไป
ท่านที่สนใจจะทราบข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ สถานีวิจัยปากช่อง สถาบันอินทรีจันทรสถิตย์เพื่อการค้นคว้าและพัฒนาพืชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา โทร. (044) 311-796
ข้อมูล: นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน www.technologychaoban.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น