ชิงเฮา จิงจูฉ่าย โกฐจุฬาลัมภา

ทั้งหมด เป็นวงศ์ Artemisia
- จิงจูฉ่าย Artemisia lactiflora ( White mugwort )
- ชิงเฮา Artemisia annua
- โกฐจุฬาลัมภาจีน (อ้ายเย่) Artemisia argue ( Mugwort)
- โกฐจุฬาลัมภา (ไทย) Artemisia vulgaris
- โกฐจุฬาลัมภาอินเดีย ( Dhavanam ) Artemisia pallens : ใช้ทำน้ำมันหอมทาตัว



จิงจูฉ่าย
ฝั่งอเมริกาเอง ปลูกจิงจูฉ่าย แต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในแง่สมุนไพร ปลูกเป็นไม้ประดับ เพราะดอกที่สวยงามของจิงจูฉ่ายนั่นเอง บางพื้นที่ มีการนำใบจิงจูฉ่ายมาประกอบอาหารแต่ไม่ได้รับความนิยมเท่า Celery หรือ ขึ้นฉ่ายฝรั่ง
ความที่จิงจูฉ่าย จัดอยู่ในยาเย็น มีความเป็นหยิน จึงมักนำมาใส่ในซุป เพื่อปรับสมดุลรับประทานในหน้าหนาว
ในใบสดๆ มีสารที่เป็น bitter absinthin ช่วยขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ
มีสาร artemisinin ที่สามารถนำมาสกัดเป็นยาต้านมาเลเรีย (พบในใบพี่น้องอีกชนิดของจิงจูฉ่าย คือชิงฮาว ) และมีสารสำคัญที่ช่วยป้องกันการเกิดมะเร็ง ต้านอนุมูลอิสระ
จิงจูฉ่ายยังมีปริมาณวิตามินซีมากกว่าในมะนาวถึง 58 เท่า มีวิตามินและเกลือแร่ต่างๆ โปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต กากใยอาหาร เหล็ก แคลเซียม ฟอสฟอรัส วิตามินซีสูง วิตามินเอ วิตามินอี และวิตามินบี 6 เป็นต้น (มีมากในใบสด มากกว่าผ่านความร้อนแล้ว)







ชิงเฮา / 青蒿 / Sweet wormwood ( Artemisia annua L )

ชิงเฮา ( พี่ๆน้องๆ ของโกฐจุฬาลัมภาจีน โกฐจุฬาลัมภาไทย และจิงจูฉ่าย) เป็นไม้ล้มลุก อายุสั้น แตกกิ่งมาก ทั้งต้นมีกลิ่นแรง มีขนขึ้นประปราย หลุดร่วงได้ง่าย ใบแฉกรูปคล้ายขนนก ต้นจะมีกลิ่นน้ำมันหอมค่อนข้างแรง
ถิ่นกำเนิดดั้งเดิมมาจากจีน แต่กระจายพันธุ์ในทวีปอเมริกาเหนือ ทวีปยุโรป ภาคเหนือของทวีปแอฟริกา และในทวีปเอเชีย ในประเทศจีนนั้นมักขึ้นทั่วไปตามเนินเขา ตามข้างทาง
ในไทย เอาพันธุ์จากเวียดนามมาปลูก พบว่าขึ้นได้ดีที่ทางภาคเหนือของเรา แต่พบว่าตัวยาสำคัญคือ อาร์ติมิซินินลดลง น้อยกว่าต้นดั้งเดิมจากเวียดนาม แพทย์แผนจีนจะใช้ส่วนที่อยู่เหนือดินของต้นนำมาใช้ทำยา
แพทย์จีนใช้ชิงเฮารักษาไข้ ไข้มีเสมหะ และใช้เป็นยาแก้ริดสีดวงทวาร
ปีคศ. 1967 ช่วงสงครามที่เวียดนามเหนือ-ใต้ มีมาเลเรียระบาด และดื้อต่อยาต้านมาเลเรียควินิน ได้ขอความช่วยเหลือมาทางจีน
ดร. ถู โยวโยว ผู้ช่วยศาสตราจารย์ของบัณฑิตยสภาจีนทางด้านการแพทย์จีนโบราณที่สำเร็จศึกษาจากคณะเภสัชศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแพทย์ปักกิ่ง (Beijing Medical University) ได้รับการส่งตัวเข้าร่วมโครงการ 523 ซึ่งเป็นโครงการในยุคสมัยของโจวเอินไหล ผู้นำคอมมิวนิสต์คนสำคัญ ได้รวมกับเหมาเจ๋อตุงตั้งโครงการนี้คิดค้นหายากันอย่างลับๆ ดร.ถู โยวโยว ขณะอายุ 37 ปี ต้องพลัดจากครอบครัว ไปอยู่ไหหนานเพื่อร่วมโครงการนี้ มีการรวบรวมยาโบราณมากกว่า 2 แสนตำรับในการวิจัย
ทีมงานค้นพบว่า สมัย คศ. 400 มีการบันทึกการใช้ชิงเฮารักษามาเลเรีย ได้พยายามที่จะสกัดสารอาร์ติมิซินิน (Artemisinin) ออกมาจากสมุนไพรชิงเฮา แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ในที่สุด ดร. ถู โยวโยว กลับไปศึกษายาแบบละเอียด และทดลองจนได้วิธีสกัดสารตัวนี้ ในฐานะหัวหน้าทีมวิจัย ที่ต้องรับผิดชอบต่อผลการทดลอง ดร.ถู โยวโยว จึงใช้ตัวเองเป็นหนูทดลอง ในการทดสอบยาจนสำเร็จ และมีการนำยาไปใช้กับคน และแรงงานในสงคราม
ในปี 1977 ได้มีการตีพิมพ์งานของ ดร. ถู โยวโยว และในปี 1981 ได้เสนอรายงานการวิจัยกับองค์การอนามัยโลก เธอต้องต่อสู้กับอุปสรรคมากมาย มีคนพยายามจะกดดัน และต่อต้านงานวิจัยชิ้นนี้ ในที่สุด ผลงานก็เป็นที่ประจักษ์ ดร. ถู โยวโยว ได้รับรางวัล Lasker-DeBakey Clinical Medical Research Award ในปี 2011 (นับเป็นผู้หญิงชาวเอเซียคนแรก ที่ได้รับรางวัลงานวิจัยด้านการแพทย์จากสถาบันนี้) และได้รับรางวัลโนเบลสาขาสรีระศาสตร์และการแพทย์ ปี 2015
ปัจจุบัน ดร.ถู โยวโยว อายุ 86 ปี ยังคงทำงานด้านวิจัย และเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง
ยาที่สกัดจากชิงเฮานั้น มีประสิทธิภาพดีในการรักษามาเลเรียชนิดฟัลซิปารุ่ม และไวแวกซ์ เป็นที่ยอมรับจากองค์การอนามัยโลก
นอกจากนี้ ในชิงเฮายังมีสารกลุ่มฟลาวานอยด์ สารแอนตี้ออกซิแดนท์ สารต้านเชื้อแบคทีเรีย ป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหารอีกด้วย




โกฐจุฬาลัมพาจีน ( Artemisia argyi ) ที่รู้จักกันในชื่อว่า อ้ายเย่ ( 艾叶,อ่านแบบพินอินว่า ài yè ) หรือ Mugwort เป็นพืชในวงศ์ทานตะวัน ซึ่งคล้ายคลึงกับพืชในวงศ์เดียวกันและมักเกิดความสับสนอย่าง โกฐจุฬาลัมพาไทย (Artemisia pallens, Artemisia vulgaris) และชิงฮาว (Artemisia annua)
เราจะใช้ใบและเรือนยอดที่ตากแห้ง นำมายีให้นุ่ม หรือบดผง คุณสมบัติของอ้ายเย่ คือจะช่วยคลายการอุดตัน กำจัดความเย็น ความชื้นออกจากเส้นลมปราณ กลิ่นของโกฐจุฬาลัมภา สามารถผ่านเส้นลมปราณ ควบคุมการไหลเวียนของเลือดให้เป็นปกติ นอกจากนี้ ความร้อนที่เกิด จะไม่สูงมาก และค่อยๆส่งผ่านความร้อนเข้าไปในชั้นกล้ามเนื้อ
ในปัจุจบัน มีการนำมาทำเป็นแท่งสำเร็จ คล้ายธูปสีดำ ขนาดประมาณใหญ่กว่าดินสอเล็กน้อย เพื่อความสะดวกในการใช้ และเพื่อปรับใช้กับเทคนิคการรมยาแบบต่างๆได้
ในปี 2005 เมื่อเกิดไข้หวัดนกระบาดในประเทศจีน กระทวงสาธารณสุขจีนได้กำหนดแผนการตรวจรักษาโรคไข้หวัดนกโดยในส่วนของการป้องกันได้กำหนดให้ป้องกันเช่นเดียวกับการระบาดของไข้หวัดอื่นๆ และการใช้โกฐจุลาลัมจีนพาในการฆ่าเชื้อนั้นเป็นวิธีที่สะดวก ราคาถูก และให้ผลที่ดี ในปี 2009 มีการตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ซานเซียงตูซื่อเป้า(三湘都市报)ของจีนว่าการจุดโกฐจุฬาลัมพาจีนสามารถฆ่าเชื้อมือเท้าปากได้อีกด้วย และยังมีงานวิจัยว่าควันจากการรมยาด้วยโกฐจุลาลัมพาจีนสามารถฆ่าเชื้อและหยุดการเจริญเติบโตของเชื้อ S. aureus, Group B Streptococcus, E.coli และ Candida albicans นอกจากนี้ยังสามารถฆ่าเชื้อคอตีบ ไข้ไทฟอยด์ บิดไม่มีตัว เป็นต้น (อ้างอิงจาก แพทย์จีนสุดสัปดาห์ 2015 )
ในตำราดั้งเดิม มีการวางก้อนโกฐจุฬาลัมภาจีนที่ปั้นเป็นก้อนเล็กๆบนผิวโดยตรงแล้วจุดไฟ วิธีนี้ จะทิ้งแผลพองมีน้ำ ในหลายๆประเทศยังมีการทำแต่วิธีนี้ไม่ได้รับอนุญาต ถือว่าผิดกฎหมายในอเมริกา
สรรพคุณของการรมยามีดังนี้
1. อบอุ่นเส้นลมปราณ ขจัดความชื้น
2. ให้เส้นเลือดและลมปราณไหลเวียนดีขึ้น
3. เสริมพลังหยาง โดยเฉพาะคนที่มีอาการมือเย็น เท้าเย็นง่าย ขี้หนาว บางครั้งมีถ่ายเหลวร่วมด้วย
4. บรรเทาอาการปวดประจำเดือน โดยใช้แท่งม็อกซ่า หรือโกฐจุฬาลัมภาสำเร็จรูป จุดไฟแล้วรมบริเวณหน้าท้อง และจุดสะดือ